วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552

รัฐศาสตร์


ภาพนี้ทำให้เข้าใจได้

มหาวิทยาลัยชีวิต

มหาวิทยาลัยชีวิต
ชุมชนเข้มแข็ง
ชุมชนเรียนรู้
อยู่แบบพอเพียง

เมืองไทยวันนี้มีปัญหาเรื่องความคิดเรื่องวิธีคิด ไม่ใช่ปัญหาการปฏิบัติหรือวิธีทำ เราสามารถส่งออกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรด เป็นอันดับหนึ่งของโลก และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ผลิตจนเหลือกิน สามารถส่งข้าวปลาอาหารไปเลี้ยงโลกจนประกาศว่า "เราคือครัวของโลก"

แต่คนผลิต คือชาวไร่ชาวนาก็ยังยากจน ลูกหลานอยู่อย่างอดๆ อยากๆ

ไปบอกไปสอนชาวบ้านให้ทำอะไรก็ทำได้ทำเป็นหมด ไม่ว่าจะให้ทำกล้วยฉาบหรือแชมพู ไม่ว่าจะให้เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ปลูกอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ขายไม่ออกบ้าง ไม่ได้ราคาบ้าง ขาดทุนมากกว่ากำไร ทำอะไรก็จะให้เป็นโอทอปไปหมด หวังร่ำหวังรวย ไม่ต่างอะไรจากสี่สิบปีที่ผ่านมา

เรามีปัญหาเรื่อง "กระบวนทัศน์" เรื่องวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบหนึ่ง แบบที่ทุนนิยมเขามองกัน แบบที่ต้องการให้คนบริโภคมากๆ เงินหมุนเวียนเยอะๆ จะได้เพิ่มจีดีพี แม้ทุกข์ชาวบ้านจะเพิ่มไปพร้อมกับจีดีพีก็ไม่เป็นไร

เราสอนชาวบ้านให้รอแต่สูตรสำเร็จแบบ "พรุ่งนี้รวย" สอนให้รู้วิธีทำ แต่ไม่ได้สนใจสอนให้รู้วิธีคิด ทำให้ชาวบ้านถามแต่ว่าจะทำอย่างไร ไม่เคยถามว่า ทำไปทำไม เป้าหมายสุดท้ายของชีวิตคืออะไร ทำแล้วมีความสุขมากขึ้นหรือ

วิธีคิดแบบนี้มีแต่อินแปง ไม้เรียง ฮักเมืองน่าน และผู้ใหญ่วิบูลย์และลูกศิษย์ ที่ชอบคิดกัน คนเหล่านี้ไม่สนใจจีดีพี สนใจจีดีเอช (GDH - Gross Domestic Happiness) ตัวชี้วัดความสุข

คนเหล่านี้ทำตามคำสอนของท่านพุทธทาสที่บอกว่า "ขึ้นต้นไม้ให้ขึ้นทางต้น อย่าขึ้นทางปลาย" หมายความว่าให้จับหลักคิดให้ดีๆ อย่าด่วนไปหาแต่เทคนิควิธีการ มันผิดธรรมชาติ ขึ้นทางปลายจะไม่มีวันถึงจุดหมาย ให้มีสัมมาทิฐิก่อนแล้วค่อยไปหาสัมมาสังกัปปะ สัมมาอาชีวะ
มาร์ติน วีลเลอร์ เกียรตินิยมอันหนึ่งจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ใช้ชีวิตกว่าสิบปีกับภรรยาคนไทยที่น้ำพอง ขอนแก่น ทำเกษตรผสมผสาน มีชีวิตอย่างพอเพียงและมีความสุข เขาบอกว่า คนไทยโชคดีมากที่มีดิน น้ำ แดด แค่นี้ก็ทำให้ชีวิตอยู่ได้สบายแล้ว แต่คนไทยมีปัญหาวิธีคิด ปัญหาวิสัยทัศน์ ปลูกมันสำปะหลังให้วัวกินอิ่มที่ยุโรป แต่ลูกของตัวเองที่บ้านกลับอดอยาก

อาจารย์ภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปางมาจากคุนหมิง เธอเล่าว่า ที่เมืองจีนคนเฒ่าคนแก่บอกลูกบอกหลานว่า ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์มาก ขนาดเอาตะเกียบเสียบลงดินยังงอกได้

แล้วทำไมวันนี้คนไทยถึงได้อยู่กันด้วยความยากลำบาก พัฒนามาสี่สิบกว่าปี ตัดไม้ทำลายป่าไปปีละกว่าล้านไร่ ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เอาไปขายกินหมด หมดแล้วก็ไปขายแรงงาน หมดแรงจะขายก็ขายลูกขายหลาน

เราไม่ได้มีปัญหาทรัพยากร ไม่ได้มีปัญหาแรงงาน แต่มีปัญหาวิธีคิด เราขาดทุนทางปัญญา ทุนที่ไม่มีใครเสกเป่าให้เกิดหรือเอามาแจกแถมแบบเอื้ออาทรได้ เป็นทุนที่จะได้มาด้วยการเรียนรู้ และไม่จำเป็นต้องไปเรียนในสถาบันการศึกษาเท่านั้น เรียนที่ไหนก็ได้ที่มีความรู้ มีผู้รู้ ดังกรณีต่างๆ ที่ได้เล่ามาก่อนหน้านี้

สี่สิบกว่าปีที่ผ่าน เราพัฒนาด้วยเงิน ด้วยโครงการ ไม่ได้สนใจการเรียนรู้ โครงการทั้งหลายจึงไม่มีอะไรยั่งยืน มีแต่ล้มกับเลิก ล้มเพราะทะเลาะกัน เลิกเพราะเงินหมด รอเงินใหม่โครงการใหม่แล้วค่อยทำ ไม่มีแบบไม่มีแผน ไม่มียุทธศาสตร์ มีแต่ยัดเยียดแบบสั่งลงไป (top-down)

ใครทำอะไรดีๆ สำเร็จ คนอื่นก็เลียนแบบ ไม่ได้เรียนรู้ การพัฒนาแบบเฮโลเลียนแบบเช่นนี้มีแต่ทำให้ชุมชนอ่อนแอลง หนี้สินพอกพูน ดินเสื่อม สิ่งแวดล้อมเสีย เพราะทำเป็นเพียงปลูกปอ ปลูกมัน ปลูกข้าวโพด ปลูกพืชเดี่ยวหวังว่าราคาจะดี ทุกอย่างพึ่งคนอื่นหมด ตัวเองเป็นแค่แรงงานถูกๆ

การพัฒนาแบบไม่มีฐานเช่นนี้ไม่มีหลักประกันความมั่นคงอะไรเลย สี่สิบปีที่ผ่านมา ชาวนาชาวไร่เปรียบมีชีวิตแบบเสี่ยงตายเสมือนนักกายกรรมเหินเวหา ไม่มีสลิงรัดเอว ไม่มีตาข่ายกันภัยรองรับข้างล่าง (safety net) ตกลงมาขาหักแข้งหักคอหักกันไม่รู้เท่าไร

ทำอะไรซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบไม่สรุปบทเรียน ผิดพลาดที่อีสาน เป็นหนี้เป็นสิน ขายที่ดินใช้หนี้หมดแล้วก็ไปตายเอาดาบหน้าแถวป่ารอยต่อห้าจังหวัดที่แปดริ้ว แล้วก็ได้ตายสมอยาก เพราะไปถึงที่นั่นก็ทำแบบเดียวกับที่เคยทำเมื่ออยู่อีสาน ปลูกข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง แล้วจะเหลืออะไร

โชคดีที่ไม่กินเหล้าจนตับแข็งตาย เจอปราชญ์ผู้ไปช่วยชี้ทางสว่างให้ จนนาอีสานเปลี่ยนจากหมู่บ้านขี้เมาเป็นหมู่บ้านพัฒนาแบบพึ่งพาตนเองที่ใครๆ อยากไปรู้จัก

เคล็ดลับของเรื่องอยู่ที่การเรียนรู้ การเรียนรู้ที่ดีมีประสิทธิภาพก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจาก "ข้างใน" ไม่ใช่ใครไปหยิบยื่นหรือยัดเยียดให้ เป็นการ "ระเบิดจากข้างใน" ดังที่ในหลวงทรงสอน

การเรียนรู้เช่นนี้ทำให้เกิดสำนึกใหม่ เกิดการตระหนักรู้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เริ่มจัดระเบียบชีวิตของตนเองใหม่ ปล่อยไปแบบเดิมไม่ได้แล้ว ทำให้เกิดระบบชีวิตเศรษฐกิจชุมชนที่มีหลักประกัน มีความมั่นคง มีระบบสวัสดิการ

ที่สำคัญ ชุมชนจำนวนหนึ่งได้ค้นพบทุนของท้องถิ่น พบว่ามีมากมายและพอเพียงเพื่อการแก้ปัญหาและนำพาชีวิตให้รอด ไม่ว่าทุนทรัพยากร หรือความหลากหลายทางชีวภาพดังกรณีอินแปง ไม่ว่าทุนความรู้ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดสืบทอดมาให้ลูกหลาน สอนให้รู้จักพึ่งพาตนเองและไม่อยู่ในความประมาท รวมถึงความรู้อันเป็นวิธีการในการทำมาหากิน และทุนทางสังคม หรือกฎเกณฑ์ที่ร้อยรัดผู้คนให้อยู่ร่วมกันเป็นพี่เป็นน้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ทิ้งกัน

แต่ทุนเหล่านี้เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ในชุมชน ซึ่งอยู่ในดิน ถูกกลบด้วยความไม่รู้ หรือการดูถูกว่าเป็นของโบราณ ไม่มีคุณค่า ชุมชนหลายแห่งที่พึ่งตนเองได้วันนี้คือผู้ที่ขุดสมบัติเหล่านี้ขึ้นมาใช้ ขุดด้วยวิธีการและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาพิจัยและแผนแม่บทชุมชน หรือด้วยสูตร "353" ของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม

ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนเข้มแข็งไม่ใช่เพราะมีป่ามาก น้ำมาก ทรัพยากรมาก แต่เพราะเป็นชุมชนเรียนรู้และได้ค้นพบคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ คิดได้และตัดสินใจได้อย่างเป็นอิสระ สามารถใช้ทุนทั้งหลายอย่างมีประสิทธิภาพ

การเรียนรู้อย่างเดียวยังไม่พอ ต้องจัดการชีวิตของตนเองใหม่ และต้องจัดอย่างมีระบบ ไม่ใช่ทำเป็นเรื่องๆ อย่างๆ ไม้เรียงได้ให้บทเรียนเรื่องนี้อย่างสำคัญว่า ถ้าหากไม่มี "แผนยุทธศาสตร์" การพัฒนาก็จะเป็นเพียงโครงการๆ เหมือนที่ผ่านมา แก้ปัญหาชุมชนซึ่งสัมพันธ์กันหมดไม่ได้ ต้องแก้อย่างเป็นองค์รวม หรือแก้แบบบูรณาการ

วิธีคิดแบบนี้ไม่มีแต่ที่เมืองไทย หลายคนในหลายประเทศก็คิด พูดและทำแบบนี้ ตั้งแต่มหาตมะ คานธี จนถึง อมาตยา เซน รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียซึ่งบอกว่า

"เมื่อความฝันสิ้นสุดลง คนก็เริ่มต้นหาความจริงกันใหม่"

"เพื่อก้าวพ้นนิยายของการพัฒนา เราจะต้องมีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทาน "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้เรามานานหลายปีแล้วให้เป็นแนวทางสำหรับทุกคน ไม่ใช่แต่เฉพาะชาวบ้านหรือชุมชน เป็น "ปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง"

พระองค์ทรงอยากให้คนไทยอยู่ในโลกยุคโลกาภิวัติน์อย่างมีศักดิ์ศรีและพอเพียง พึ่งพาตนเองได้ ไม่ใช่พึ่งคนอื่นอย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ทำทุกอย่าง ทำกินทำใช้เองทั้งหมด ซึ่งพระองค์ทรงบอกว่า "อย่างนั้นมันเกินไป" ทรงแนะนำว่า พอเพียงเพียงหนึ่งในสี่ก็สามารถอยู่ได้

ระบบเศรษฐกิจชุมชนหมายถึงการจัดการชีวิต การกินการอยู่ การผลิต การบริโภค การจัดการทรัพยากร จัดการทุนในแบบที่พึ่งพาตนเองได้ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนหนึ่งที่ทำให้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้อย่างแท้จริง เป็นระบบที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวของมันเอง

ไม่ใช่ขึ้นกับระบบเศรษฐกิจใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว รอให้เขาอุปถัมภ์เอื้ออาทร เหมือนไม้ในกระถางที่เขารอให้เขารดน้ำ เขารดก็สดชื่น เขาไม่รดก็เหี่ยวเฉาหรือรอวันตาย ไม่ใช่ไม้ที่ออกจากกระถางลงดิน โตเป็นไม้ใหญ่ที่ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเองในธรรมชาติ

ระบบเศรษฐกิจชุมชนที่เกิดจากการเรียนรู้และการวางแผนเป็นระบบที่มีวิสาหกิจชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน มีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา เศรษฐกิจชุมชนจึงต้องสร้างรากฐานให้ชุมชนมั่นคงก่อน แล้วค่อยคิดเรื่องการทำมาค้าขายหรือไปแข่งขันในตลาดใหญ่

วิสาหกิจชุมชนอันเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจชุมชนจึงไม่ได้ทำเพื่อ "รวย" เป็นอันดับแรก แต่เพื่อ "รอด" ให้ได้เสียก่อน ไม่ได้เอาตลาดเป็นตัวตั้ง แต่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาจีดีพีและกำไรเป็นตัวชี้วัด แต่เอาจีดีเอช ความพอเพียงและความสุขเป็นตัวชี้วัด ไม่ได้เอาวงจรธุรกิจเป็นกรอบ แต่เอาวิถีชุมชนเป็นกรอบ วิสาหกิจชุมชนใช้ทุนชุมชนเป็นหลัก ธุรกิจใช้เงินและทรัพยากรเป็นหลัก

ระบบเศรษฐกิจชุมชนมีฐานสวัสดิการที่เป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิตให้ชุมชน วันนี้และวันหน้า มีเวลารอเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้รีบเร่งเพื่อรวยลัดรวยเร็วอย่างที่ทุนนิยมและบริโภคนิยมเร่งเร้า

วิสาหกิจชุมชนแยกแยะผลผลิตของตนเองให้รู้ว่าอะไรเพื่อการบริโภคในครอบครัว ในชุมชนและเครือข่าย อะไรเหลือกินเหลือใช้เอาออกไปสู่ตลาดภายนอก อะไรมีเอกลักษณ์และดีพอที่จะพัฒนาเป็นโอทอปเอาออกไปแข่งขันในตลาดใหญ่ ไม่สับสนระหว่างคุณค่าและมูลค่า รวมทั้งเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต

การเรียนรู้และการจัดการที่ดีเท่านั้นจะทำให้ชุมชนค้นพบภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และค้นหาความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสานในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นให้มีมูลค่าเป็นทวีคูณ ไม่แอบอิงอยู่แต่การทำอย่างเดียวสองอย่าง ไม่ข้าวก็มัน ไม่มันก็ยาง หรือรับจ้างรายวัน อยู่กินไปวันๆ แบบไม่มีอนาคต

การเรียนรู้และการจัดการที่ดีทำให้ชุมขนค้นพบ "ทุน" ว่าเป็นอะไรยิ่งใหญ่และมากกว่าเงิน ค้นพบความรู้ใหม่ๆ ซึ่งหามาได้ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองของผู้คน ค้นพบตลาดท้องถิ่นว่าเป็นตลาดที่มีมูลค่าตำบลหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50 ถึง 200 ล้านบาทต่อปี สร้างความร่ำรวยให้คนอื่นเขามามากแล้ว

เหล่านี้คือกระบวนการพัฒนาที่มีฐานอยู่ที่ความรู้และปัญญามากกว่าเงินและอำนาจ เป็นการพัฒนาที่ชุมชนได้หลุดพ้นจากวิธีคิดแบบพึ่งพาและรอความช่วยเหลือจากรัฐหรือภายนอก หันมาพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง นี่คือแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความทุกข์ของชุมชนและของแผ่นดิน ที่ขอสรุปด้วยชื่อบทความของ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข (มติชนสุดสัปดาห์ 30 ธ.ค. 47)
เขียนโดยอาจารย์ เสรี พงศ์พิศ
"ซูนหวู่ : สู้ด้วยยุทธศาสตร์ รบด้วยปัญญา ชนะด้วยความรู้"

วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ประธานรุ่น

สวัสดีครับ เพื่อนนักศึกษา(ไม่ใช่สิ)มหาบัณฑิตรัฐศาสตร์ รุ่น 5 ที่รักทุกท่าน
ผมขอแสดงความยินดีกัทุกท่านที่สำเร็จการศึกษาเป็นมหาบัณฑิตตามที่มุ่งหวังตั้งใจไว้ และขอขอบคุณที่มอบความไว้วางใจให้ผมทำหน้าที่ประธานรุ่น รวมทั้งได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดผ้าป่าสามัคคีเพื่อหางบประมาณก่อสร้างฐานอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง สาขาวิทยบริการหนองบัวลำภู ซึ่งรัฐศาสตร์รุ่น 5 เราถือว่าเป็นแกนหลักรับหน้าที่สำคัญ จนสามารถทำให้กิจกรรมดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
จากนี้ไป ทุกท่านในฐานะ มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง คงจะได้นำเอาความรู้และประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงาน ก่อให้เกิดความก้าวหน้าต่อตนเองตลอดจนประเทศชาติ
ผมขออวยพรให้ทุกท่าน ประสบแต่ความสุขและเจริญก้าวหน้าในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวสืบไป
ดิษพล บุตรดีวงษ์
ประธานนักศึกษารัฐศาสตร์ รุ่น 5

วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เปิดจองชุดครุย

มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการฯ จังหวัดหนองบัวลำภู
เปิดรับจองชุดครุยสำรับนักศึกษาปริญญาโท ปีการศึกษา 2550

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป - วันที่ 20 ตุลาคม 2551

เวลา 09.00 – 16.30 น.

รายละเอียดการเช่า

1. ค่าเช่า ชุดละ 800.- บาท

2. ค่ามัดจำ ชุดละ 1,300.- บาท

รวม 2,100.- บาท

สอบถามรายละเอียด โทร. 04-2314-290-1

วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กำหนดการขึ้นทะเบียนมหาบัณฑิต

กำหนดการขึ้นทะเบียนมหาบัณฑิต
มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จ.หนองบัวลำภู
คณะรัฐศาสตร์ และ คณะบริหารธุรกิจ
วันที่ 19 – 20 กรกฎาคม 2551
(นักศึกษาต้องสอบผ่านทุกกระบวนวิชา และมีผลการสอบประมวลความรู้เป็น S
และไม่มีหนี้ค้างชำระกับทางมหาวิทยาลัย)
ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. โอนเงินค่าขึ้นทะเบียนมหาบัณฑิต จำนวน 1,500 บาท โดยโอนผ่าน ธนาคารทหารไทย
Com. Code 793
2. รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว จำนวน 5 รูปสวมครุยปริญญามหาวิทยาลัยรามคำแหง
(ปริญญาโท 2 แถบ)
คณะ สีตามคณะที่สำเร็จการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ สีแดง , คณะบริหารธุรกิจ สีฟ้า
3. นำเอกสารตามข้อ 1 และ 2 มาขึ้นทะเบียนที่สาขาฯ จ.หนองบัวลำภู วันที่ 19 – 20 กรกฎาคม 2551 เวลา 09.00 – 15.00 น.
4. เตรียมซองสีน้ำตาลขนาดความยาว F4 ระบุชื่อ-ที่อยู่นักศึกษา พร้อมติดแสตมป์จำนวน 18 บาท (ถ้านักศึกษามีความประสงค์ให้เอกสาร TRANSCRIPT ถึงนักศึกษาเร็ว ให้ส่งเป็น EMS โดยซื้อได้ที่ ไปรษณีย์)
5. กรอกเอกสารขึ้นทะเบียนมหาบัณฑิตดังรายการต่อไปนี้
5.1 แบบยื่นคำขอหนังสือสำคัญรับรองปริญญาและขึ้นทะเบียนบัณฑิตฯ
5.2 แบบขอใบรองผลการศึกษา (TRANSCRIPT)ระดับบัณฑิตศึกษา
5.3 ระเบียนบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย
5.4 ทะเบียนประวัติ มหาบัณฑิตรุ่นที่ 5